เหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ ตอนกลางของประเทศเมียนมา ในวันที่ 28 มีนาคม 2568 (ชุดที่ 1)

pexels doruk aksel anil 477355556 15861724

เหตุการณ์แผ่นดินไหว ประเทศเมียนมา วันที่ 28 มีนาคม 2568

สรุป
  • เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ขนาดใหญ่ 7.7 แมกนิจูด ในบริเวณตอนกลางของประเทศเมียนมา และมีการตรวจพบแรงสั่นสะเทือนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย จีน และเวียดนาม
  • เกิดความเสียหายร้ายแรงในหลายพื้นที่ของเมียนมา โดยมีอาคารบ้านเรือนพังทลาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
  • ในส่วนของกรุงเทพฯ ที่แม้ว่าจะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร ตึกสูงมีการสั่นไหวอย่างรุนแรงเนื่องจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาว ทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารจำนวนมาก รวมถึงมีผู้เสียชีวิตและสูญหายจากเหตุอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่ม นอกจากนี้ หลังเกิดแผ่นดินไหว มีอาคารสูงหลายแห่งถูกปิด และการคมนาคมขนส่งเป็นอัมพาตชั่วคราว ทำให้ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลออกมาตามท้องถนนโดยเฉพาะในย่านสำนักงาน และมีผู้คนบางส่วนที่ไม่สามารถเดินทางกลับที่พักอาศัยได้
  • แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นบริเวณรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ซึ่งพาดผ่านประเทศเมียนมาในแนวเหนือใต้ โดยมีการคาดการณ์มาโดยตลอดว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคนี้ ปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านมามากกว่า 3 วันนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว แต่ ณ บริเวณรอยเลื่อนสะกายและพื้นที่โดยรอบยังคงเกิดอาฟเตอร์ช็อกอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังการเกิดแผ่นดินไหวครั้งต่อไป

ภาพรวมแผ่นดินไหว

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เวลาประมาณ 12.50 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศเมียนมา (13.20 น. ตามเวลาประเทศไทย และ 6.20 น. ตามเวลาสากลเชิงพิกัด (UTC)) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 Mw (Moment magnitude) (ตัวเลขเบื้องต้นจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS)1)) โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในภาคกลางของประเทศเมียนมา แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออาคารและโครงสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมา และเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา นอกจากนี้ยังมีการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในเมืองย่างกุ้ง รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ในประเทศไทยซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 500 กิโลเมตร มณฑลยูนนานของประเทศจีน รวมถึงกรุงเทพมหานครของประเทศไทย และกรุงฮานอยของประเทศเวียดนาม ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากกว่า 1,000 กิโลเมตรด้วยเช่นกัน

แผ่นดินไหวเมียนมา
แผนภาพ. ตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว (เครื่องหมาย ★) การกระจายความรุนแรงของแผ่นดินไหวโดยประมาณ* จำแนกตามเมืองใหญ่ และจำนวนประชากรโดยประมาณ (ที่มา: USGS1)) *แสดงผลตาม Mercalli Intensity Scale
สถานการณ์ความเสียหายในประเทศเมียนมา

ตามรายงานของ USGS คาดการณ์ว่าเมืองมัณฑะเลย์และพื้นที่โดยรอบบริเวณจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวได้รับแรงสั่นสะเทือนระดับ 8-9 ตามมาตรวัดเมอร์คัลลี แม้ว่าจะไม่สามารถเปรียบเทียบโดยตรงได้ แต่บางพื้นที่อาจได้รับแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่าระดับ 6 lower – 6 upper ตามมาตรวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น และบางแห่งอาจได้รับแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่าระดับ 7

ในเมียนมา มีรายงานว่าอาคารอย่างน้อย 13,000 หลังพังถล่มและเสียหายอย่างหนัก และอาคารผู้โดยสารของสนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ได้รับความเสียหายทางโครงสร้างอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีรายงานความเสียหาย เช่น หอควบคุมการบินของสนามบินนานาชาติเนปิดอว์ซึ่งเป็นเมืองหลวงพังถล่ม ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเดินทางทางอากาศ2)นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้าและน้ำประปาในเมืองมัณฑะเลย์และเนปิดอว์ก็ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม รัฐบาลทหารเมียนมาได้ทำการแถลงว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย ผู้บาดเจ็บมากกว่า 3,900 ราย และผู้สูญหายอีกจำนวนมาก3) USGS คาดการณ์ว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจเกิน 10,000 ราย และความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจเกิน GDP ของเมียนมา ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะทราบถึงขอบเขตความเสียหายทั้งหมด1)

สถานการณ์ความเสียหายในประเทศไทย

ในประเทศไทย คาดการณ์ว่าเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ได้รับแรงสั่นสะเทือนประมาณระดับ 5 ตามมาตรวัดเมอร์คัลลี  และในส่วนของกรุงเทพฯ ผู้คนรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนระดับ 3-4 โดยเฉพาะที่อาคารสูงนั้นสามารถสัมผัสได้ถึงการสั่นไหวอย่างช้า ๆ และกว้าง ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากคลื่นแผ่นดินไหวคาบยาว ส่งผลให้อาคารสูงจำนวนมากได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีเหตุอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของรัฐบาลไทยซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างบริเวณใกล้ตลาดจตุจักรพังถล่ม โดย ณ วันที่ 30 มีนาคม มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และผู้สูญหายอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้เสียชีวิต 18 ราย ผู้บาดเจ็บ 33 ราย และผู้สูญหาย 78 ราย ณ วันที่ 30 จากความเสียหายอื่น ๆ เช่น เครนก่อสร้างอาคารร่วงหล่น4)

แผ่นดินไหวประเทศเมียนมา
อาคารถล่มระหว่างการก่อสร้างที่ย่านจตุจักร (ภาพถ่ายโดยผู้เขียนเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568)

ผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย และผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่มาจากเหตุในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ โดยนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 มีนาคม 2568

นอกจากนี้ ณ วันที่ 30 มีนาคม 2568 ทางกรุงเทพมหานคร (BMA) ได้รับรายงานความเสียหายของอาคาร 9,500 แห่ง และได้ประกาศว่าจะให้การสนับสนุนการตรวจสอบโดยละเอียดโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ โดยเริ่มจากกรณีที่รุนแรงที่สุดตามลำดับ4) 5)

ในขณะเดียวกัน ณ วันที่ 30 ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในพื้นที่ทางตอนเหนือ เช่น เชียงใหม่

แผ่นดินไหวประเทศเมียนมา
ทางเดินระหว่างอาคารพักอาศัยย่านสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร (ทองหล่อ-เอกมัย) ที่อยู่ในสภาพชำรุด (ภาพถ่ายโดยผู้เขียนเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568)

ภาพถ่ายด้านล่างคือสถานการณ์บริเวณสำนักงานของ บริษัท อินเตอร์ริสค์ เอเชีย (ประเทศไทย) เขตสาธร กรุงเทพฯ โดยภาพดังกล่าวถูกถ่ายในวันที่ 28 มีนาคม 2568 ช่วงเวลาหลังเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 3 ชั่วโมง 


บริเวณอาคารสำนักงานของ InterRisk Asia (สาธร) หลังเกิดแผ่นดินไหว


ประมาณ 30 นาทีหลังเกิดแผ่นดินไหว ผู้คนก็มารวมตัวกันที่สวนลุมพินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ใกล้สาธรที่สุด


สี่แยกหน้าสวนลุมพินี


พบเสาอาคารสูงเสียหายบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี


ผู้คนรวมตัวกันบริเวณอาคารสำนักงานบริษัทอินเตอร์ริสค์ เอเชีย (ประเทศไทย) ย่านสาธร


ทางเข้าสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรีที่ ปิดชั่วคราวหลังเกิดแผ่นดินไหว

ขณะกำลังทำงานอยู่ที่ชั้น 9 ของตึกสำนักงาน 31 ชั้น ณ สำนักงานของบริษัท อินเตอร์ริค์ เอเชีย (ประเทศไทย) ตั้งอยู่ การสั่นสะเทือนเริ่มต้นด้วยการสั่นอย่างช้า ๆ ก่อนจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้น โดยผู้เขียนสัมผัสได้ถึงการสั่นอย่างช้า ๆ แต่รุนแรงเป็นเวลานานกว่า 2 นาที แม้ว่าจะไม่รู้สึกถึงการสั่นสะเทือนในแนวดิ่ง แต่สัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนที่ทำให้มีอาการขาสั่น โดยหลังจากที่แผ่นดินไหวสงบลงแล้ว ผู้เขียนได้รับคำสั่งให้ออกไปยังด้านนอกอาคาร และพบว่าบริเวณที่ตั้งสำนักงาน ถนนสาธรมีอาคารสูงหลายแห่ง ถนนเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่กำลังทยอยออกจากอาคาร และโชคดีที่ทางบริษัทสามารถยืนยันความปลอดภัยของพนักงานทุกคนได้อย่างรวดเร็ว ทว่าอุณหภูมิสูงสุดในวันดังกล่าวนั้นอยู่ที่มากกว่า 38°C และการอยู่ข้างนอกเขตสำนักงานภายใต้แสงแดดที่แผดเผาเป็นระยะเวลานานอาจเป็นอันตรายแก่สภาพร่างกายได้ จึงได้อพยพพนักงานทั้งหมดไปคลายร้อนที่สวนสาธารณะลุมพินีเพื่อรอให้สถานการณ์สงบลง

สถานการณ์หลังเกิดแผ่นดินไหว โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว ทำให้เกิดความสับสนในข้อมูล นอกจากนี้ปัญหาการจราจรติดขัดที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ไม่สามารถหารถแท็กซี่รวมถึงรถไฟฟ้า BTS และ MRT ต่างก็หยุดให้บริการเพื่อทำการตรวจสอบจนถึงกลางดึก อาคารสูงหลายแห่งถูกจำกัดหรือมีการห้ามเข้าอาคารหลังเกิดแผ่นดินไหว ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากประสบปัญหาในการเดินทางกลับที่พักอาศัย ผู้คนจำนวนมากต้องเดินเท้าออกไปนอกใจกลางกรุงเทพฯ หรือพักอยู่ในสวนสาธารณะเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยในวันรุ่งขึ้นระบบขนส่งและห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ ทว่าบางอาคารและอพาร์ตเมนต์ยังคงมีข้อจำกัดในการเข้าออก

กลไกการเกิดแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนจุดกำเนิดแผ่นดินไหว

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับจุดศูนย์กลางและกลไกการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก มีรายละเอียดดังนี้: USGS (สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา), DMH (กรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาแห่งเมียนมา), IPGP (สถาบันธรณีฟิสิกส์แห่งปารีส) และ TMD (กรมอุตุนิยมวิทยาไทย)

แผ่นดินไหวประเทศเมียนมา

ถึงแม้ว่าค่าประมาณเบื้องต้นของขนาดแผ่นดินไหวจะแตกต่างกันไปเนื่องจากความแตกต่างของข้อมูลการสังเกตการณ์และวิธีการวิเคราะห์ที่แต่ละหน่วยงานใช้ แต่ค่าที่ประมาณได้นั้นอยู่ที่ระดับ 7.7 แมกนิจูดขึ้นไป ซึ่งถือเป็นขนาดแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นบนแผ่นดินใหญ่ของโลกในอดีต

นอกจากนี้ ตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่คาดคะเนไว้ของแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังสอดคล้องกับตำแหน่งของรอยเลื่อนตามแนวระนาบที่รู้จักกันในชื่อ รอยเลื่อนสะกาย ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณขอบเขตของแผ่นเปลือกโลกอินเดียและแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย รอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่พาดผ่านภาคกลางของเมียนมาในแนวเหนือ-ใต้ และจากตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวและการวิเคราะห์กลไกการเกิดแผ่นดินไหว*ที่ได้จากการวิเคราะห์คลื่นแผ่นดินไหวของ USGS คาดการณ์ได้ว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้มีโอกาสสูงที่จะเกิดการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน (การแตกหัก) ในทิศทางตามแนวระนาบขนาดใหญ่ในวงกว้างบนพื้นผิวรอยเลื่อนของรอยเลื่อนสะกายที่พาดผ่านเมียนมาในแนวเหนือ-ใต้

แผ่นดินไหวเมียนมา

จากการวิเคราะห์กระบวนการเกิดแผ่นดินไหว ณ จุดกำเนิด โดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น USGS และมหาวิทยาลัยสึกุบะ พบว่า หลังจากการเริ่มต้นการแตกหักของรอยเลื่อน ณ จุดเหนือศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหว การเลื่อนตัวของรอยเลื่อนได้ขยายออกไปในแนวเหนือ-ใต้ และมีการประเมินว่ามีการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนขนาดใหญ่กว่า 6 เมตร เกิดขึ้นทางใต้ของจุดศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 20-30 กิโลเมตร ยิ่งไปกว่านั้น การแตกหักได้ดำเนินต่อไปจนถึงบริเวณทางใต้ของจุดศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 200 กิโลเมตร และในท้ายที่สุดการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนก็ได้ขยายออกไปในพื้นที่ประมาณความยาวรอยเลื่อน 250-300 กิโลเมตร x ความกว้าง 20-30 กิโลเมตร โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 70-80 วินาที สิ่งนี้บ่งชี้ว่าพื้นที่การแตกหักของรอยเลื่อนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงบริเวณมัณฑะเลย์ที่อยู่ใกล้จุดกำเนิดแผ่นดินไหวเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงบริเวณเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมาด้วยเช่นกัน

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพลังงานจากการแตกหักของแผ่นดินไหวถูกปล่อยออกมาเป็นคลื่นแผ่นดินไหวจากพื้นที่วงกว้างในแนวเหนือ-ใต้ สิ่งนี้ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงในพื้นที่วงกว้างของภาคกลางของเมียนมา และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออาคารต่าง ๆ ดังเช่นสถานการณ์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในทิศทางที่รอยเลื่อนทางด้านตะวันออกเคลื่อนที่ไป (ทางใต้) เป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร บริเวณโดยรอบกรุงเทพฯ ประกอบด้วยชั้นตะกอนอ่อนนุ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยา และชั้นตะกอนดังกล่าวทอดตัวยาวในแนวเหนือ-ใต้ตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา คลื่นพื้นผิวที่ถูกปล่อยออกมาอย่างรุนแรงจากรอยเลื่อนต้นกำเนิดแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวตื้นที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหว (จุดเริ่มต้นการแตกหักของแผ่นดินไหว) ประมาณ 1,000 กิโลเมตร และห่างจากปลายของทางใต้ของพื้นที่การแตกหักของรอยเลื่อนประมาณ 800 กิโลเมตร โดยที่มีการถูกลดทอนค่อนข้างน้อย และเมื่อคลื่นเคลื่อนที่ผ่านชั้นตะกอนดังกล่าว คลื่นได้ถูกขยายให้กลายเป็นคลื่นแผ่นดินไหวคาบยาว ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ตึกสูงที่สั่นสะเทือนได้ง่ายเกิดการสั่นไหวอย่างรุนแรง

ข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีตของบริเวณรอยเลื่อนสะกาย

จากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวของ USGS ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 เป็นต้นมา พบว่าบริเวณรอยเลื่อนสะกายที่เป็นจุดกำเนิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาแล้วหลายครั้ง โดยในอดีตเคยมีแผ่นดินไหวตื้นขนาด M7 เกิดขึ้น 3 ครั้งบริเวณรอยเลื่อนดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ไปทางเหนือประมาณ 250 กิโลเมตร และในปี ค.ศ. 1956 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด Mw 6.8 ที่บริเวณใกล้กับจุดกำเนิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังมีบันทึกการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่คาดว่ามีขนาดเทียบเท่า M7.9 ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแผ่นดินไหวในครั้งนี้ประมาณ 150 กิโลเมตร ในปี ค.ศ. 1912 (เนื่องจากเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อ 113 ปีก่อน จึงมีความเป็นไปได้ที่ความแม่นยำของตำแหน่งจุดกำเนิดแผ่นดินไหวและขนาดแมกนิจูดอาจอยู่ในระดับต่ำ)

ในทางกลับกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 เป็นต้นมา ในส่วนของข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวบนรอยเลื่อนสะกาย มีบันทึกการเกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณทางใต้ของแผ่นดินไหวในครั้งนี้ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเนปิดอว์ถือเป็นพื้นที่ว่างเปล่าจากการเกิดแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวในครั้งนี้ทำให้เกิดการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ประมาณ 200 กิโลเมตรตามแนวรอยเลื่อนเหนือ-ใต้บริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความเครียดที่สะสมในบริเวณดังกล่าวคลายตัวลงได้ในระดับหนึ่ง ในขณะที่ความเครียดในบริเวณเนปิดอว์ทางใต้ยังคงสะสมอยู่ มีความเป็นไปได้ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขนาด M7 ขึ้นอีกครั้งตามแนวรอยเลื่อนนี้ อาจทำให้เกิดการสั่นไหวที่รุนแรงขึ้นในเนปิดอว์ ย่างกุ้ง และเชียงใหม่ และอาจทำให้เกิดความเสียหายจากคลื่นแผ่นดินไหวคาบยาวในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้

การเกิดอาฟเตอร์ช็อกและข้อควรระวังหลังจากนี้

ประมาณ 12 นาทีหลังจากการเกิดแผ่นดินไหวหลัก ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด Mw 6.7 (ตัวเลขเบื้องต้นจาก USGS โดยตัวเลขเบื้องต้นจาก TMD คือ M7.1) ทางตอนใต้ของแผ่นดินไหวหลัก ซึ่งถือเป็นอาฟเตอร์ช็อกที่รุนแรงที่สุดในขณะที่เขียนบทความนี้ ณ เวลา 9.00 น. วันที่ 1 เมษายน (เวลาประเทศไทย) โดยต่อมา จากการรวบรวมข้อมูลของ TMD พบว่าระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวหลักจนถึงเวลา 7.00 น. วันที่ 1 เมษายน (เวลาประเทศไทย) ได้มีการตรวจพบแผ่นดินไหวขนาด M5 จำนวน 7 ครั้ง แผ่นดินไหวขนาด M4 จำนวน 55 ครั้ง และแผ่นดินไหวขนาด M3 จำนวน 108 ครั้ง ตามแนวรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมา

แม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ห่างจากรอยเลื่อนสะกาย แต่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม เป็นต้นมา แผ่นดินไหวบริเวณใกล้เคียงอำเภอแม่ฮ่องสอนของไทยซึ่งอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ โดยภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากการเกิดแผ่นดินไหวหลัก ได้มีการตรวจพบแผ่นดินไหวขนาด M4.1 จำนวน 1 ครั้ง และแผ่นดินไหว

ขนาด M3 จำนวน 6 ครั้ง ตามข้อมูลเบื้องต้นของ TMD นอกจากนี้ ยังเกิดแผ่นดินไหวขนาด M2 จำนวนมากในเชียงใหม่ ลำปาง แพร่ และตาก ซึ่งคาดว่าแผ่นดินไหวเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา

แผ่นดินไหวเมียนมา
บริเวณรอบประเทศเมียนมาและไทย ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม พ.ศ. 2568 (ที่มา: USGS)

แผ่นดินไหวเมียนมา

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การเกิดแผ่นดินไหวในวันที่ 28 มีนาคม ยังไม่มีการยืนยันการเกิดแผ่นดินไหวขนาดที่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ณ เวลา 9.00 น. วันที่ 1 เมษายน (เวลาประเทศไทย)

อ้างอิงจากข้อมูลของ USGS ณ เวลา 05.00 น. วันที่ 1 เมษายน (เวลาประเทศไทย) มีการประเมินว่าโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด M7 ขึ้นไป 1 ครั้งหรือมากกว่านั้นภายใน 1 สัปดาห์ข้างหน้าอยู่ที่ 1% โอกาสที่จะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 3% และโอกาสที่จะเกิดขึ้นภายใน 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 7% ส่วนโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด M6 ขึ้นไป 1 ครั้งหรือมากกว่านั้นภายใน 1 สัปดาห์ข้างหน้าอยู่ที่ 10% โอกาสที่จะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 22% และโอกาสที่จะเกิดขึ้นภายใน 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 43% หากเกิดแผ่นดินไหวตื้นขนาด M6 อาจทำให้เกิดการสั่นไหวอย่างรุนแรงในบริเวณใกล้เคียงจุดกำเนิดแผ่นดินไหวเป็นหลัก และหากเกิดแผ่นดินไหวตื้นขนาด M7 อาจทำให้เกิดการสั่นไหวอย่างรุนแรงในบริเวณใกล้เคียงจุดกำเนิดแผ่นดินไหว รวมถึงอาจทำให้เกิดคลื่นแผ่นดินไหวคาบยาวในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 โดยในทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุในครั้งนี้ จำเป็นต้องเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อกต่อไปในระยะยาว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในอาคารที่ได้รับความเสียหาย หรือบริเวณใกล้เคียง หากรู้สึกถึงการสั่นไหวของแผ่นดินไหว ควรทำการรับมือเพื่อความปลอดภัยของตนเองทันที

แผ่นดินไหวเมียนมา

สรุป

            จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ พบว่าผู้คนจำนวนมากในกรุงเทพฯ ต่างตื่นตระหนกกับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ไม่เคยประสบมาก่อน ทำให้มีการหนีลงมาจากอาคารอย่างเร่งรีบ นอกจากนี้ในช่วงเวลาหลายชั่วโมงหลังเกิดแผ่นดินไหว ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ค่อนข้างมีความสับสน รวมถึงมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะเกิดอาฟเตอร์ช็อกครั้งต่อไปที่ไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์บนโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้คนจำนวนมากเกิดความสับสน

การมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแผ่นดินไหว และวิธีการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงผู้เขียนเองก็ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการทบทวนแนวทางการรับมือเบื้องต้นต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ รวมถึงแผ่นดินไหว แผนการรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) และการให้ความรู้ด้านการป้องกันภัยพิบัติแก่พนักงานด้วยเช่นกัน

เนื่องจากยังคงมีโอกาสเกิดอาฟเตอร์ช็อกในเมียนมาและพื้นที่ใกล้เคียงอยู่ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังการเกิดอาฟเตอร์ช็อกในทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง และพิจารณาถึงความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในบริเวณเมียนมาและไทยอีกครั้ง และให้ความสำคัญกับตรวจสอบและทบทวนความปลอดภัยของอาคารที่พักอาศัยและอาคารของบริษัท มาตรการการยึดสิ่งของภายในอาคาร เส้นทางและสถานที่หลบภัย การรับมือเบื้องต้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยอ้างอิงจากความเสียหายของพื้นที่ต่าง ๆ ที่เกิดจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้

InterRisk Asia (Thailand) Co., Ltd.
President Ezaki Hayaki

อ้างอิง

1) https://earthquake.usgs.gov/earthquakes/eventpage/us7000pn9s/executive
2) https://www.airwaysmag.com/new-post/myanmar-earthquake-affected-airline-airport
3) https://www.abc.net.au/news/2025-03-31/what-we-know-about-the-earthquake-in-myanmar/105116378
4) https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2991241/local-death-count-from-fridays-tremor-rises-to-18
5) https://fondue.traffy.in.th/bangkok
6) https://www.moezala.gov.mm/earthquake-news%20
7) https://earthquake.tmd.go.th/index.html
8) http://geoscope.ipgp.fr/index.php/en/catalog/earthquake-description?seis=us7000pn9s
9) https://www.geol.tsukuba.ac.jp/~yagi-y/EQ/2025MyanmarEQ/index.html
10) http://www.sagaingfault.info/
11) https://www.tmd.go.th/en/EarthQuake

MS&AD InterRisk Research Institute Co., Ltd. is a risk-related service company of the MS&AD Insurance Group, which conducts consulting related to risk management and research in a wide range of fields. 

 InterRisk Asia (Thailand) Co., Ltd. is a risk management company based in Bangkok, Thailand. We provide various risk consulting services in Southeast Asian countries, including fire risk surveys, natural disaster and industrial accident risk surveys for factories, warehouses, commercial facilities, etc., traffic risks, BCP formulation support, cyber risks, etc. 

For inquiry, please feel free to contact the below information, or nearest Mitsui Sumitomo Insurance or Aioi Nissay Dowa Insurance sales representatives.  

 
MS&AD InterRisk Research & Consulting, Inc. 
International Section, Risk Consulting Division 
TEL. +66-(0)-3-5296-8920 
https://www.irric.co.jp/en/corporate/index.php 

 
InterRisk Asia (Thailand) Co., Ltd.  
175 Sathorn City Tower, South Sathorn Road, Thungmahamek, Sathorn, Bangkok, 10120, Thailand 
TEL: +66-(0)-2679-5276 
FAX: +66-(0)-2679-5278 
https://www.interriskthai.co.th/ 

The purpose of this report is to provide our customers with the useful information for the occupational safety and health management. There is no intention to criticize any individuals and parties etc.

Copyright 2025 MS&AD InterRisk Research & Consulting, Inc. All Rights Reserved


Share:

Let us help you ensure business continuity

Talk to InterRisk and take the first step toward a safer, risk-free business