เหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ ตอนกลางของประเทศเมียนมา ในวันที่ 28 มีนาคม 2568 (ชุดที่ 2)

pexels pavel danilyuk 7937689

ความเสียหายจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาวและการตรวจสอบความปลอดภัยหลังแผ่นดินไหว –

สรุป
  • จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ ตอนกลางของประเทศเมียนมาในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 นั้นแม้ว่าจะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร ตึกสูงมีการสั่นไหวอย่างรุนแรงเนื่องจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาว ทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารจำนวนมาก
  • คลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาวนั้นหากเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว มีความเป็นไปได้ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ตึกสูงได้ จึงควรมีมาตรการในการจัดการและป้องกัน
  • หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวควรมีการตรวจสอบเพื่อพิจารณาในการใช้งานของตึก แต่ทว่าเมื่อพิจารณาเหตุการณ์ว่าอาจไม่สามารถจัดหาผู้เชี่ยวชาญได้ทันที จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่ต้องมีการจัดระบบให้ผู้จัดการพื้นที่สามารถทำการตรวจสอบได้โดยตนเอง
  • คลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาวนั้น ไม่เพียงแต่ที่จะสร้างความเสียหายแก่ตัวตึกเท่านั้น อาจยังสามารถทำความเสียหายแก่เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งได้ จึงมีความสำคัญที่ต้องมีมาตรการในการจัดการเพื่อป้องกันไว้ล่วงหน้า
  • ได้มีการแนบลิสต์ในการตรวจสอบความปลอดภัยหลังแผ่นดินไหว ผู้อ่านสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นข้อมูลเพื่อการอ้างอิงในการตรวจสอบได้
ลักษณะของคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาว

อาการสั่นไหวของแผ่นดิน (การสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว) นั้นจะมีการผสมผสานการสั่นไหวหลาย ๆ รูปแบบ เช่น สั่นไหวแบบสั้น ๆ และเร็ว หรือว่าสั่นไหวแบบยาว ๆ ช้า ๆ ภายใน 1 คาบเวลา (ระยะเวลาที่เกิดขึ้นในการสั่นไป-กลับ 1 รอบ) ซึ่ง “คลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาว” นั้นจะเป็นการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบเวลายาวนานเป็นจำนวนมาก โดยปกติแล้วการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาวนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบสั้นแล้วการลดทอนความรุนแรงของการสั่นจะเป็นไปได้ยากกว่า จึงสามารถแผ่กระจายไปได้ไกลถึงบริเวณที่อยู่ห่างไกลจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

อาคารแต่ละหลังมีคาบเวลาการสั่นไหวที่ง่ายต่อการสั่น (คาบเวลาธรรมชาติ) เป็นของตัวเอง แต่ถ้าคาบเวลาของคลื่นแผ่นดินไหวตรงกับคาบเวลาธรรมชาติของอาคาร จะเกิดการสั่นพ้อง (Resonance) ทำให้อาคารสั่นไหวอย่างรุนแรง ซึ่งคาบเวลาธรรมชาติของอาคารนั้นจะแตกต่างไปตามความสูงของอาคาร หากเป็นบ้านไม้หรือตึกเตี้ยจะมีคาบเวลาธรรมชาติที่สั้น แต่หากตึกสูงจะมีแนวโน้มที่จะมีคาบเวลาธรรมชาติที่ยาว เนื่องจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาวนั้นจะมีรูปแบบการสั่นสะเทือนในคาบเวลายาวนานเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้ตึกสูงที่มีคาบเวลาธรรมชาติที่ยาวจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา
แผนภาพ. ตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว (เครื่องหมาย ★) การกระจายความรุนแรงของแผ่นดินไหวโดยประมาณ* จำแนกตามเมืองใหญ่ และจำนวนประชากรโดยประมาณ (ที่มา: USGS1)) *แสดงผลตาม Mercalli Intensity Scale

พื้นดินมีคาบเวลาธรรมชาติเช่นเดียวกับตึกเช่นกัน หินแข็งจะมีคาบเวลาที่สั้น, และยิ่งพื้นดินมีความอ่อนมากเท่าไหร่คาบเวลาธรรมชาติจะมีความยาวมากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะเป็นบริเวณที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว หากเป็นพื้นที่ที่เป็นพื้นดินอ่อนจะทำให้แผ่นดินไหวมีระยะยาวและรุนแรงขึ้น และหากคาบเวลาของคลื่นแผ่นดินไหวตรงกับคาบเวลาธรรมชาติของอาคาร อาจทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่ตัวอาคารได้เช่นกัน

ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ทำให้พบเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตึกสูงในกรุงเทพมหานคร, ประเทศไทยถึงแม้อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาถึง 1,000 กิโลเมตร อันเนื่องจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาว ซึ่งพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาหรือแม่น้ำบางประกงที่อยู่โดยรอบกรุงเทพมหานครนั้นเป็นที่รู้จักว่าเป็น “ชั้นดินเหนียวกรุงเทพมหานคร” ที่มีพื้นที่ลักษณะเป็นชั้นดินเหนียวที่มีความยืดหยุ่น จึงสามารถคาดเดาได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แผ่นดินไหวมีระยะยาวและรุนแรงได้

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา
รูปภาพ: รูปหน้าตัดทางธรณีวิทยาของกรุงเทพมหานคร2)
ตัวอย่างความเสียหายในอดีตที่เกิดขึ้นจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาว

ในอดีตพบเห็นการรายงานความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากคลื่นไหวสะเทือนคาบยาวในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเช่นกัน

  1. ความเสียหายจากตึกถล่ม

แผ่นดินไหวเม็กซิโกใน พ.ศ. 2528 นั้นได้มีการรายงานความเสียหายจากตึกถล่มเป็นจำนวนมากที่เม็กซิโกซิตี้ถึงแม้ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว 400 กิโลเมตร ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นในวงกว้างทั่วทั้งเมืองเม็กซิโกซิตี แต่กระจุกตัวอยู่ในบริเวณที่เป็นดินอ่อนของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจนในอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกลางถึงสูงแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาในครั้งนี้ไม่ได้รับการรายงานเหตุตึกถล่มนอกเหนือจากตึกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

  1. Sloshing

Sloshing คือ ปรากฏการณ์ที่ของเหลวในภาชนะปิดหรือเปิดเกิดการเคลื่อนไหวหรือแกว่งอย่างรุนแรง เมื่อภาชนะนั้นถูกรบกวนหรือมีการสั่นสะเทือน เช่น แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งโทคาจิใน พ.ศ. 2546 แทงค์น้ำมันในเมืองโทมะโคะมะอิจิที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 250 กิโลเมตรเกิด Sloshing ทำให้ระบบหลังคาที่ออกแบบให้ลอยอยู่ผิวหน้าของเหลวที่ถูกเก็บไว้ในถังได้รับความเสียหาย ทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหลและเกิดเพลิงไหม้แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาในครั้งนี้ ได้รับการรายงานเกิดเหตุที่น้ำสระว่ายน้ำในคอนโดมีเนียมหรือเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ที่ตึกสูงในกรุงเทพมหานครเกิดการ Sloshing ทำให้น้ำเอ่อล้นออกมาเนื่องจากน้ำกระฉอก ส่งผลให้รั้วกระจกได้รับความเสียหายจากการกระทบกับน้ำที่เอ่อล้นออกมา

  1. ความเสียหายจากเชือกลิฟต์โดยสารขาด/ภัยจากการถูกกักขังในลิฟต์

ตัวอย่างเหตุการณ์ เช่น จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในชูเอ็ตสึ จังหวัดนีงาตะนั้นได้รับการรายงานเกิดเหตุการณ์ความเสียหายของเชือกลิฟต์โดยสารในตึกสูงภายในจังหวัดโดเกียวที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขาด อีกทั้งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นตะวันออกใน พ.ศ. 2554 นั้นเกิดเหตุการถูกกักขังในลิฟต์เนื่องจากเชือกลิฟต์โดยสารพันกันอีกด้วยแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาในครั้งนี้ ไม่ได้รับรายงานเกิดเหตุความเสียหายเนื่องจากลิฟต์โดยสารหล่นในกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด

  1. ความเสียหายต่อส่วนประกอบที่ไม่ใช่โครงสร้าง

จากการสั่นไหวของตึกเนื่องจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาวนั้น อาจทำให้เกิดความเสียหายไม่เพียงแต่ต่อโครงสร้างหลักของอาคาร เช่น เสาและคานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงส่วนประกอบที่ไม่ใช่โครงสร้าง เช่น ผนังภายใน พื้น และเพดานอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคโทโฮคุ พ.ศ. 2554 พบความเสียหายในอาคารสูงที่โอซาก้า ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 800 กิโลเมตร เช่น แผ่นผนังบิดเบี้ยวและแตกร้าว แผ่นฝ้าเพดานร่วงหล่น พื้นบิดเบี้ยวและโก่งตัว รวมถึงประตูหนีไฟบิดเบี้ยว นอกจากนี้ ในอาคารสูงในโตเกียว ยังมีการรายงานความเสียหาย เช่น น้ำรั่วจากท่อสปริงเกอร์ และแผ่นปิดรอยต่อ (expansion joint cover) หลุดร่วงในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาครั้งนี้ พบรายงานความเสียหายต่อส่วนประกอบที่ไม่ใช่โครงสร้างจำนวนมากในอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร เช่น ผนังภายในแตกร้าว ผนังภายนอก แผ่นฝ้าเพดาน และโคมไฟแขวนหล่น

  1. ความเสียหายของเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งภายในห้อง

ชั้นสูงในตึกสูงนั้นหากได้รับการสั่นสะเทือนจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาวเป็นระยะเวลานาน ถึงแม้จะไม่ได้รับความเสียหายที่ตัวตึก แต่มีความเป็นไปได้ที่เกิดความเสียหายของเฟอร์นิเจอน์และอุปกรณ์ตกแต่งภายในห้องได้ เช่น ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคโทโฮคุ พ.ศ. 2554 นั้นได้รับการแจ้งความเสียหายจากชั้นที่ไม่ได้ยึดล้ม, หรืออุปกรณ์ตกแต่งที่มีล้อ หรือว่าเครื่องปริ้นท์เตอร์มีการเคลื่อนไหวและโยกไปมา แผ่นดินไหวในเมียนมาในครั้งนี้ จำนวนความเสียหายที่เกิดจากเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งภายในห้องอาจไม่ได้รับการแจ้งมากเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายต่อตัวอาคารในกรุงเทพมหานคร แต่ทว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งภายในที่ไม่ได้รับการยึดในอาคารสูงที่ได้ผลกระทบจากการสั่นสะเทือนนั้นอาจเกิดการล้มหรือเคลื่อนที่ได้

การตรวจสอบความปลอดภัยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว

การใช้อาคารหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่ต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยของตัวอาคารรวมถึงเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งภายในอาคาร เนื้อหาด้านล่างนี้จะเป็นการอธิบายถึงวิธีการตรวจสอบความปลอดภัยของตัวอาคาร, เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งภายในอาคารโดยรวบรวมจากเอกสารอ้างอิงภายในประเทศญี่ปุ่น

1) วิธีการตรวจสอบอาคารแบบฉุกเฉิน

หากจำเป็นต้องมีการใช้อาคารหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องได้รับการตรวจสอบอาคารในด้านความปลอดภัยต่อคนและด้านการจัดการเพื่อการต่อเนื่องทางธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ทว่าผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคอาจไม่สามารถเข้าตรวจสอบได้ทันที เนื่องจากต้องปฏิบัติงานรับมือกับภัยพิบัติหลังแผ่นดินไหว ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้พนักงานของบริษัทและผู้ดูแลอาคารที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม สามารถดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยเบื้องต้นและเร่งด่วนของอาคารได้เองจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในประเทศญี่ปุ่น สำนักงานคณะรัฐมนตรีจึงได้เผยแพร่ “แนวทางการตรวจสอบอาคารเบื้องต้นโดยผู้ดูแลอาคารทันทีหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 3) (ต่อไปนี้จะเรียกว่า แนวทางของสำนักงานคณะรัฐมนตรี)” ซึ่งระบุขั้นตอนการตรวจสอบและเกณฑ์การตัดสินใจที่ชัดเจน

ขั้นตอนการตรวจสอบเบื้องต้นตามแนวทางของสำนักงานคณะรัฐมนตรีแสดงดังรูปด้านล่าง โดยเริ่มจากการตรวจสอบลักษณะภายนอกและความเสียหายภายนอกของอาคาร หากพบว่ามีชั้นที่พังถล่ม หรือมีความเสี่ยงที่อาคารข้างเคียงจะล้มทับและได้รับผลกระทบ ซึ่งประเมินได้ว่าเป็นอันตรายอย่างชัดเจน จะตัดสินในทันทีว่าอาคารนั้นไม่สามารถใช้งานได้ หากไม่พบความเสี่ยงจากลักษณะภายนอก จะดำเนินการตรวจสอบจากภายในอาคาร โดยพิจารณาความเอียงของแต่ละชั้นและความเสียหายของโครงสร้าง เพื่อประเมินว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ หากผลการตรวจสอบภายนอกและภายในระบุว่าอาคารสามารถใช้งานได้ จะต้องระบุจุดที่อาจเป็นอันตรายจากสิ่งของที่อาจหล่น และดำเนินการตามมาตรการ เช่น การห้ามเข้าในพื้นที่นั้น

เอกสารแนบท้ายรายงานนี้มีแบบตรวจสอบตามแนวทางของสำนักงานคณะรัฐมนตรี ซึ่งท่านสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารหลังเกิดแผ่นดินไหว

อนึ่ง ในกรุงเทพฯ หน่วยงานราชการในท้องถิ่นได้ให้บริการแสดงข้อมูลสถานการณ์ความเสียหายและความปลอดภัยของอาคารบน WebGIS 4) ซึ่งท่านสามารถนำไปใช้ประกอบการตรวจสอบความปลอดภัยได้เช่นกัน

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา
รูปภาพ: กระบวนการตรวจสอบอาคารฉุกเฉินตามแนวทางของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น

(2) มาตรการป้องกันเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในอาคาร

ความเสียหายจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาวไม่เพียงแต่โครงสร้างหลักของอาคารเท่านั้น แต่ยังเกิดความเสียหายจากการล้มหรือเคลื่อนที่ของเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในอาคารเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็น 5) ที่ดำเนินการกับเจ้าของอาคารสูงในโตเกียวภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคโทโฮคุ พ.ศ. 2554 พบว่า หากมีการดำเนินมาตรการป้องกันการล้มหรือเคลื่อนที่ของเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้อย่างเหมาะสม จะไม่เกิดความเสียหาย ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเตรียมมาตรการล่วงหน้าเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันความเสียหายได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในประเทศญี่ปุ่น สำนักงานดับเพลิงโตเกียวจึงได้เผยแพร่ “คู่มือมาตรการป้องกันการล้ม การหล่น และการเคลื่อนที่ของเฟอร์นิเจอร์ – มาตรการป้องกันแผ่นดินไหวภายในอาคาร – 6) (ต่อไปนี้จะเรียกว่า คู่มือของสำนักงานดับเพลิงโตเกียว)” ซึ่งระบุวิธีการป้องกันแผ่นดินไหวสำหรับเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในอาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย คู่มือของสำนักงานดับเพลิงโตเกียวอธิบายมาตรการป้องกันแผ่นดินไหวในด้านต่างๆ เช่น การจัดวางเฟอร์นิเจอร์เพื่อป้องกันการกีดขวางทางหนีภัย วิธีการป้องกันเฟอร์นิเจอร์ที่มีล้อเลื่อนไม่ให้เคลื่อนที่ และวิธีการยึดเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มีล้อเลื่อน โดยมีรายละเอียดดังรูปด้านล่าง

เอกสารแนบท้ายรายงานนี้มีแบบตรวจสอบตามคู่มือของสำนักงานดับเพลิงโตเกียว ซึ่งท่านสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบความปลอดภัยของเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในอาคารได้

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา
รูปภาพ: ตัวอย่างเลย์เอาท์ของเฟอร์นิเจอร์ที่อาจเป็นสิ่งกีดขวางตอนอพยพ 6)
เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา
รูปภาพ: ตัวอย่างการป้องกันเฟอร์นิเจอร์ที่มีล้อเลื่อน 6)
เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมา
รูปภาพ: ตัวอย่างการป้องกันตู้ 6)
สรุป

รายงานฉบับนี้ได้อธิบายถึงลักษณะเฉพาะและตัวอย่างความเสียหายจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาว พร้อมทั้งแนะนำวิธีการตรวจสอบความปลอดภัยหลังเกิดแผ่นดินไหว ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในภาคกลางของประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 พบความเสียหายจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาวในอาคารสูงในกรุงเทพมหานครในประเทศไทย ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 1,000 กิโลเมตร ในประเทศไทยนั้นมีคาดการณ์ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคที่มีกิจกรรมแผ่นดินไหวสูง เช่น ที่ประเทศเมียนมาหรือประเทศลาว ในระดับความรุนแรงเดียวกัน หรือเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คาดการณ์ไว้บริเวณนอกชายฝั่งสุมาตรา อาจเกิดความเสียหายจากคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาวซ้ำอีกได้ นอกจากนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่เมืองอื่น ๆ ในประเทศต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำสายใหญ่ก็จำเป็นต้องมีความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับคลื่นแผ่นดินไหวที่มีลักษณะคาบยาวเช่นกัน เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องมีการพิจารณามาตรการป้องกันแผ่นดินไหวอย่างเพียงพอ โดยอ้างอิงจากวิธีการตรวจสอบความปลอดภัยที่ได้แนะนำไว้ในรายงานฉบับนี้

MS&AD InterRisk Research & Consulting. Inc.
Risk Management Group 1
Chief of Risk Engineering Group 2
Mr. Kyouhei Suzuki

(อ้างอิง) ตัวอย่างเช็คลิสต์ในการตรวจสอบความปลอดภัยหลังแผ่นดินไหว

 (1) อาคาร

ตัวอย่างการตรวจสอบ
ตัวอย่างการตรวจสอบ
ตัวอย่างการตรวจสอบ
Screenshot 2025 04 11 145004
ตัวอย่างการตรวจสอบ

(ข้อมูลจัดทำขึ้นตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบอาคารฉุกเฉิน)
โดยผู้ดูแลอาคาร/สถานที่หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ – สำนักงานคณะรัฐมนตรี

 (2) อุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายใน

แผ่นดินไหวเมียนมา
(อ้างอิงจากคู่มือมาตรการป้องกันการล้ม การหล่น และการเคลื่อนที่ของเฟอร์นิเจอร์ - สำนักงานดับเพลิงโตเกียว)

อ้างอิง

  1. https://www.jma.go.jp/jma/kishou/know/jishin/choshuki/
  2. https://www.researchgate.net/publication/368540395
  3. https://www.bousai.go.jp/jishin/kitakukonnan/kinkyuutenken_shishin/index.html
  4. https://fondue.traffy.in.th/bangkok
  5. https://www.data.jma.go.jp/eqev/data/study-panel/tyoshuki_kentokai/kentokai1/siryou1.pdf
  6. https://www.tfd.metro.tokyo.lg.jp/learning/elib/kagutenhandbook.html

MS&AD InterRisk Research Institute Co., Ltd. is a risk-related service company of the MS&AD Insurance Group, which conducts consulting related to risk management and research in a wide range of fields. 

 InterRisk Asia (Thailand) Co., Ltd. is a risk management company based in Bangkok, Thailand. We provide various risk consulting services in Southeast Asian countries, including fire risk surveys, natural disaster and industrial accident risk surveys for factories, warehouses, commercial facilities, etc., traffic risks, BCP formulation support, cyber risks, etc. 

For inquiry, please feel free to contact the below information, or nearest Mitsui Sumitomo Insurance or Aioi Nissay Dowa Insurance sales representatives.  

 
MS&AD InterRisk Research & Consulting, Inc. 
International Section, Risk Consulting Division 
TEL. +66-(0)-3-5296-8920 
https://www.irric.co.jp/en/corporate/index.php 

 
InterRisk Asia (Thailand) Co., Ltd.  
175 Sathorn City Tower, South Sathorn Road, Thungmahamek, Sathorn, Bangkok, 10120, Thailand 
TEL: +66-(0)-2679-5276 
FAX: +66-(0)-2679-5278 
https://www.interriskthai.co.th/ 

The purpose of this report is to provide our customers with the useful information for the occupational safety and health management. There is no intention to criticize any individuals and parties etc.

Copyright 2025 MS&AD InterRisk Research & Consulting, Inc. All Rights Reserved

Share:

Let us help you ensure business continuity

Talk to InterRisk and take the first step toward a safer, risk-free business