เหตุเพลิงไหม้ที่เซ็นทารา แกรนด์ (เซ็นทรัลเวิลด์)

จากการลงพื้นที่สืบสวนโดยกรมพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่สภาวิศวกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ต้นเพลิงมาจากห้องปั๊มดับเพลิงชั้น B2 ซึ่งเป็นชั้นใต้ดินและไฟได้ลามขึ้นไปสู่ชั้น 8 ผ่านทางปล่องควันระบายอากาศ โดยส่วนของท่อระบายควันบริเวณชั้น 8 ซึ่งเชื่อมมาจากปล่องควัน เป็นท่อแนวนอนและทำจากวัสดุไฟเบอร์กลาสที่ไม่สามารถทนความร้อนสูงได้ ทำให้ท่อบริเวณนั้นพังทลายลงมาปิดกั้นทางหนีไฟบริเวณชั้น 8 เป็นเหตุให้ควันไม่สามารถระบายออกไปสู่ภายนอกได้ บวกกับการที่มีวัสดุติดไฟได้จำนวนมากจึงทำให้เกิดไฟไหม้ต่อเนื่องด้วย

เนื่องจากอาคารเป็นอาคารเก่าทำให้การออกแบบท่อระบายควันนั้นเป็นจุดอ่อน  หากเป็นอาคารสมัยใหม่จะออกแบบท่อที่เชื่อมจากปล่องควันให้มีความแข็งแรงทนความร้อนหรือมีลิ้นกันไฟ (Fire Damper) ในปล่องควันเพื่อไม่ให้อากาศเข้าไปได้ ซึ่งการตรวจสอบอาคารเก่าจะตรวจสอบเพียงสภาพของตัวโครงสร้างที่มีอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น ไม่มีการเจาะลึกลงไปถึงเรื่องเหล่านี้ นายพิชญะยังกล่าวอีกว่ามีกฎหมายและมาตรฐานอยู่แต่การบังคับใช้ยังไม่ 100%

จากข้อสันนิษฐานว่าด้วยประสบการณ์การสำรวจท่อภายในโรงงานของเรา คาดว่าชั้นใต้ดิน B2 ที่มีบ่อบำบัดน้ำเสียและเครื่องสาธารณูปโภคอยู่นั้น มีก๊าซมีเทน ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า และก๊าซแอมโมเนียซึ่งได้จากน้ำเสียสะสมอยู่ ซึ่งก๊าซเหล่านี้เป็นก๊าซที่ติดไฟได้อย่างรวดเร็ว จากแหล่งข่าวพบว่ามีเครื่องเป่าลม (Blower) เกิดการขัดข้องและมีประกายไฟขึ้น จึงอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดการจุดติดไฟกับก๊าซดังกล่าว จากนั้นควันไฟและความร้อนจึงลอยตัวขึ้นไปยังท่อระบายอากาศ หากท่อระบายอากาศนี้ไม่ได้ถูกทำความสะอาดเป็นประจำ จะทำให้มีคราบสะสมอยู่ ซึ่งคราบเหล่านี้อาจเป็นตัวกลางในการลามไฟทำให้เกิดไฟไหม้ภายในท่ออย่างต่อเนื่อง และท่อระบายอากาศนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการทนไฟ จึงทำให้ท่อเกิดความเสียหายและพังทลายลงมาปิดกั้นทางหนีไฟ

AUTHOR

Sutiwat Prutthiprasert