สัปดาห์นี้เรามาดูอีกหนึ่งตัวอย่างเหตุหยุดชะงัก (ไฟดับ) ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ Resilience การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCM) และการออกแบบระบบดับเพลิงซึ่งเหตุการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นที่สนามบินฮีทโธรว์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
แล้วเกิดอะไรขึ้นที่สนามบินฮีทโธรว์?
วันที่ 20 มีนาคม 2025 เกิดเหตุไฟไหม้ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง North Hyde ส่งผลให้สนามบิน Heathrow ไฟดับเป็นวงกว้าง กระทบผู้โดยสารมากกว่า 200,000 คน และทำให้มีเที่ยวบินถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนเส้นทางกว่า 1,300 เที่ยว ต้องใช้รถดับเพลิงกว่า 10 คันและระยะเวลากว่า 7 ชั่วโมงเพื่อควบคุมเพลิง เหตุการณ์นี้ส่งผลให้สนามบินหยุดไปเกือบ 1 วันเต็มๆ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกับสายการบินกว่า 60-70 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง
สาเหตุของเหตุการณ์นี้?
สนามบิน Heathrow มีการรับไฟจากหลายสถานีไฟฟ้า โดยมีสถานี Heathrow North เป็นหนึ่งในสถานีหลัก โดยสถานีนี้รับไฟจากสถานีไฟฟ้าที่ North Hyde (275/66kV) อีกที ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งในหม้อแปลงหลักของสถานี North Hyde เกิดไฟไหม้ขึ้นและลุกลามจนเกิดความเสียหายกับพื้นที่และหม้อแปลงข้างเคียง รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบแบคอัพ
เมื่อวิเคราะห์สาเหตุจากหลายๆแหล่งข่าวและผู้เชี่ยวชาญพบว่า:
เนื่องจากสถานี North Hyde ค่อนข้างเก่าและถูกออกแบบในช่วง 1960s ทำให้อาจขาดการออกแบบเพื่อป้องกันความเสียหายจากเพลิงไหม้ และการสำรองการจ่ายไฟในกรณีที่หม้อแปลงมากกว่าหนึ่งตัวเสียหาย (N-2) อีกทั้งมีการติดตั้งสายส่งไฟแรงดันสูงสำรองในพื้นที่เดียวกันกับสายสายส่งไฟแรงดันสูงเส้นหลักทำให้ได้รับความเสียหายพร้อมกัน
การทำงานของระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งอยู่บนหม้อแปลงนั้นล้มเหลวหรือออกแบบมาไม่เพียงพอ ทำให้ความเสียหายกระจายเป็นวงกว้าง รวมถึงขาดการติดตั้งกำแพงทนไฟเพื่อป้องกันความเสียหายจากไฟลาม
ถึงแม้ว่าสนามบิน Heathrow จะรับไฟจากแหล่งจ่ายมากกว่าหนึ่งสถานี แต่การสลับแหล่งจ่ายไฟสำหรับระบบต่างๆในสนามบินที่มีความซับซ้อนสูงนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา ถึงแม้ว่าสนามบินจะมีระบบจ่ายไฟสำรองให้กับระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย แต่ ระบบหลักอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเช่น ระบบกระเป๋าและสายพาน ระบบน้ำมันเชื้อเพลิง หรือแม้กระทั่งระบบสะพานเทียบเครื่องบินนั้นไม่ได้มีระบบสำรองไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดเหตุหยุดชะงักในที่สุด
บทเรียนจากเหตุการณ์นี้
การวางแผนด้านการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องและ resilience นั้นสำคัญ
เหตุไม่คาดฝันที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ การวางแผนการจัดการด้านความต่อเนื่อง ระบุระดับความพึ่งพาของทรัพยากรหลัก และการออกแบบโดยคิดถึงอุปกรณ์/ระบบสำรอง (redundancy planning) รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพของแผนและอุปกรณ์หลักจึงมีความสำคัญ
การออกแบบระบบป้องกันเหตุเพลิงไหม้
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเสียหายในเหตุการณ์นี้เห็นได้ชัดว่า เกิดจากเพลิงไหม้หม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีปริมานน้ำมันเชื้อเพลิงมหาศาลกว่า 5,000 แกลลอน (25,000 ลิตร) ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จริงๆแล้วการออกแบบสถานีไฟฟ้ามีข้อกำหนดด้านการออกแบบระบบดับเพลิงที่เกี่ยวข้องจากมาตรฐาน NFPA 850 และ FM Global Loss Prevention Data Sheet 5-4 กับ 5-25 อยู่ ซึ่งบทความนี้ยกตัวอย่างข้อกำหนดหลักๆ ดังต่อไปนี้
การป้องกันการลามไฟระหว่างหม้อแปลงและอุปกรณ์อื่นๆ
การเว้นระยะห่างระหว่างหม้อแปลงและอุปกรณ์ใกล้เคียงตามคำแนะนำของ FMDS ในตารางที่ 8 ตามปริมาณน้ำมัน
หากการเว้นระยะห่างระหว่างหม้อแปลงในตารางที่ 8 ไม่สามารถทำได้ ให้ติดตั้งกำแพงทนไฟ 2 ชั่วโมงเพื่อกั้นแยกพื้นที่แทน โดยกำแพงทนไฟทำจากคอนกรีทและมีส่วนยื่นเลยอุปกรณ์บนหม้อแปลง โดยเฉพาะถังน้ำมัน conservator อย่างน้อย 0.3 เมตรในแนวดิ่งและ 0.6 เมตรในแนวนอนจากหม้อแปลงหรือจากพื้นที่รองรับน้ำมันโดยนับอันที่มากกว่า
นอกจากนี้การออกแบบพื้นที่กักเก็บน้ำมัน (spill containment) ก็สำคัญในการจำกัดความเสียหายจากเหตุรั่วไหลและเพลิงไหม้ ทั้งมาตรฐาน NFPA และ FM global แนะนำให้มีการออกแบบระบบกักเก็บตาม มาตรฐาน IEEE STD 980 โดยหลักการออกแบบจากทั้งสองมาตรฐานมีหลักการพิจารณาปัจจัยเพิ่มเติมด้วยดังต่อไปนี้
- ปริมาณน้ำมันจากหม้อแปลง
- ปริมาณน้ำจากสายฉีดน้ำดับเพลิงและระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง
- เขื่อนกั้นน้ำมันหรือมาตรการอื่นๆเพื่อระบายน้ำมันไปยังทิศทางที่ปลอดภัย ห่างจาก อาคารและหม้อแปลงใกล้เคียง (เฉพาะ NFPA)
สุดท้ายเป็นเรื่องของการออกแบบระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่เพียงพอตามมาตรฐานสากล เช่น NFPA 15 Standard for Water Spray Fixed Systems for Fire Protection หรือ FMDS 4-1N, Water Spray Fixed Systems และ Data Sheet 2-0, Installation of Sprinkler Systems. ซึ่งระบุข้อกำหนดจำเป็นต่างๆเกี่ยวกับการออกแบบที่ขอไม่ลงรายละเอียดในบทความนี้ทั้งหมดเนื่องจากจะทำให้บทความยาวเกินไป
อย่างไรก็ตามหากมีการติดตั้งระบบ water spray ทั้ง 2 มาตรฐานได้กำหนดอัตราการไหล (discharge density) ของระบบไว้ที่ 0.3 gpm/sq.ft (FMDS) และ 0.25 gpm/sq.ft (NFPA) สำหรับหม้อแปลง และ 0.2 gpm/sq.ft (FMDS) กับ 0.15 gpm/sq.ft (NFPA) สำหรับป้องกันพื้นที่รอบๆหม้อแปลง ซึ่งการออกแบบแหล่งจ่าย (water supply) ต้องคำนึงถึงความต้องการของระบบรวมถึงการใช้งานสายฉีดน้ำ (hose stream demand) ขนาด 250 gpm เป็นเวลา 1 ชั่วโมงด้วย จะเห็นว่าทั้งสองมาตรฐานมีหลักการออกแบบเดียวกัน เพียงแต่ FM Global จะมีความเข้มงวดกว่า
สรุป
จากกรณีศึกษาสนามบิน Heathrow จะเห็นว่านอกจากความสำคัญของการมีระบบบริหารจัดการ (BCMS) และแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจแล้ว (BCP) ขั้นตอนการซ้อมแผน (Exercise) หรือทบทวน (Validation) ตัวระบบและอุปกรณ์ป้องกันต่างๆนั้นก็สำคัญอย่างยิ่ง
ในเคสนี้หากเราทบทวนกลับไปมองที่สถานีจ่ายไฟหลักของสนามบินที่เป็น critical dependency ด้านพลังงาน แล้วใช้หลักวิศวกรรมในการประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติม (Risk assessment) จะเห็นถึงช่องโหว่ด้านการออกแบบระบบดับเพลิงที่อาจทำให้ระบบของคุณกลายเป็น Single point of failure ถึงแม้จะออกแบบตามหลักการ N+1 ก็ตาม
องค์กรของคุณพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดเหตุหยุดชะงักแล้วหรือยัง?
ท้ายที่สุด ความเสี่ยงและเหตุหยุดชะงักต่างๆอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ การวางแผนและประเมินความเสี่ยงที่ดี รวมถึงการทดสอบต่างหากที่จะช่วยให้เราสามารถระบุและลดความเสี่ยงได้ก่อนที่จะเกิดผลกระทบกับการดำเนินงาน
ติดต่อเราตอนนี้ หากท่านต้องการการประเมินความเสี่ยง หรือต้องการที่ปรึกษาด้านการดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง ที่ InterRisk เรามีวิศวกรมืออาชีพที่ได้รับการรับรอง และเชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็น เพลิงไหม้ เครื่องจักรเสียหาย ภัยธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งความปลอดภัยบนท้องถนน มาเปลี่ยน Risks ในองค์กรของท่านเป็น Resilience กันเถอะ
Reference
- https://www.theguardian.com/uk-news/2025/mar/23/national-grid-boss-says-there-was-power-to-run-heathrow-during-shutdown?utm_source=chatgpt.com
- https://apnews.com/article/heathrow-reopens-fire-disruption-airlines-delays-eeac11179fe495c04cbb331128149d3b
- Aerials show site of fire that caused 18-hour shutdown of Heathrow Airport | AP News
- https://www.linkedin.com/feed/update/urn:li:activity:7308776827215306752/ (Simon Gallagher, UK Network services)
- FM Property Loss Prevention Data Sheets 5-25
- FM Property Loss Prevention Data Sheets 5-4
- NFPA 850, Recommended Practice for Fire Protection for Electric Generating Plants and High Voltage Direct Current Converter Stations, 2020 Edition
- https://www.basicconcepts.com/secondary-containment-solutions-fiberglass-containment-wall-with-geomembrane-liner