BCMS Blog#13 การประเมินความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย: มุมมองด้านความต่อเนื่องทางธุรกิจ

Earthquake

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 มีแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาแผ่ขยายเข้ามาถึงหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดแรงสั่นไหวในอาคารต่าง ๆ และสร้างความกังวลให้กับประชาชนรวมถึงธุรกิจในหลายภาคส่วน แม้ว่าประเทศไทยไม่ถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวสูง แต่ผลกระทบทางธรณีวิทยาจากประเทศเพื่อนบ้านกลายมาเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งไม่อาจมองข้ามผลกระทบได้โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในมุมมองของความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity)

เข้าใจความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย: ภัยเงียบที่ซ่อนอยู่

Earthquake Area

ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนขอบของแผ่นเปลือกโลกหลัก แต่ได้รับผลกระทบจากแนวรอยเลื่อนที่ยังมีพลังในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา นอกจากนี้ ภายในประเทศไทยเองก็มีแนวรอยเลื่อนหลายแห่งที่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันตก

ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว ตามมาตรฐานการบริหารความเสี่ยง ISO 31000:2018

การระบุความเสี่ยง (Risk Identification)

วัตถุประสงค์ของการระบุความเสี่ยงคือการค้นหา การรับรู้ และการอธิบายความเสี่ยง ข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่อัพเดทมีความสำคัญอย่างยิ่งในการระบุความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

แหล่งที่มาของความเสี่ยง (Risk Source)
เหตุการณ์และความเสี่ยง (Events and Causes)
ผลที่ตามมาและผลกระทบ (Consequences and Impacts)
จุดอ่อน (Valunerability)

การวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis)

วัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์ความเสี่ยง คือ การทำความเข้าใจลักษณะของความเสี่ยงนั้นๆ รวมถึงพิจารณาระดับของความเสี่ยงที่เหมาะสม เราจะมาทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากข้อมูลที่ได้จากการระบุความเสี่ยง (Risk Identification)

Earthquakes in Thailand and neighboring border areas

แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีแหล่งกำเนิดจากภายนอกประเทศส่งแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศไทย โดยมีแหล่งกำเนิดจากตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทะเลอันดามัน ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา

แผ่นดินไหวเกิดจากแนวรอยเลื่อนที่ยังสามารถเคลื่อนตัวซึ่งอยู่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ เช่น รอยเลื่อนเชียงแสน รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนแพร่ รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนเมยอุทัยธานี รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนคลองมะรุย เป็นต้น

1. ความสูญเสียทางกายภาพ

ภัยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น พื้นดินแยก ภูเขาไฟระเบิด อาคารสิ่งก่อสร้างพังทะลายเนื่องจากแรงสั่นไหว ไฟไหม้ ก๊าซรั่ว คลื่นซึนามิ แผ่นดินถล่ม เส้นทางคมนาคมเสียหาย

2. ความสูญเสียทางด้านร่างกายและจิตใจ

ประชาชนตื่นตระหนกและเกิดความวิตกกังวลถึงการเกิดเหตุซ้ำ ปัญหาด้านสุขภาพจิตของผู้ประสบภัย ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน

3. ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

การสื่อสารโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ตสัญญาณขาดช่วง คอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายหยุดหรือขัดข้อง การคมนาคมทางบก ทางอากาศชะงัก

ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์: บริเวณที่มีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหวสูงในประเทศไทยได้แก่

1. บริเวณที่อยู่ใกล้แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่วนใหญ่อยู่บริเวณ ภาคเหนือและตะวันตก

2. บริเวณที่เคยมีประวัติหรือสถิติแผ่นดินไหวในอดีตและมีความเสียหายเกิดขึ้น บริเวณนั้นจะมีโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใกล้เคียงกับสถิติเดิมได้อีก

3. บริเวณที่เป็นดินอ่อนซึ่งรับการสั่นสะเทือนได้ดี เช่น บริเวณที่มีดินเหนียวอยู่ใต้พื้นดินเป็นชั้นหนาในบริเวณที่ลุ่ม หรืออยู่ใกล้ปากแม่น้ำ

อาคารและสิ่งก่อสร้าง

ประเทศไทยมีประกาศกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เมื่อปี พ.ศ. 2550 และมีการปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ.2564 ดังนั้น อาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ รวมถึงอาคารสูงที่มีการพิจารณาผลกระทบจากแผ่นดินไหวในขั้นตอนการออกแบบแล้วในเบื้องต้น แต่อาจไม่เทียบเท่ากับกฎกระทรวงและมาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ความเป็นไปได้ต่ำถึงปานกลาง (เกิดไม่บ่อยแต่เคยเกิดแล้วในอดีต)

อ้างอิงข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมทรัพยากรธรณี ในรอบ 40 ปี ประเทศไทยมีแผ่นดินไหวขนาดกลาง (5.0-5.9 ริกเตอร์) เกิดขึ้น 8 ครั้ง หรือเฉลี่ย 1 ครั้งในรอบ 5 ปี แบ่งเป็นภาคเหนือ 5 ครั้ง ภาคตะวันตก 3 ครั้ง โดยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในบ้านเราส่วนใหญ่มีขนาดไม่เกิน 6.0 ริกเตอร์

มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว (เช่น มยผ.1301/1302)

ระบบเตือนภัย (เฉพาะบางพื้นที่ชายฝั่งทะเล)

การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) กรมโยธาธิการ อย่างไรก็ตามอาจยังขาดการบังคับใช้และความตระหนักของประชาชนในวงกว้าง

เวลาในการเกิดเหตุไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ความเสียหายจะเกิดขึ้นทันทีและรุนแรง จึงต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้าและการแจ้งเตือนที่รวดเร็ว

ตัวอย่าง Risk Matrix ในกรณีเหตุแผ่นดินไหว

Risk metrix

การประเมินความเสี่ยงของแผ่นดินไหวและผลกระทบขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละองค์กรด้วย ซึ่งตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างในการพิจารณาเบื้องต้น

ตัวอย่างพิจารณา Likelihood: 2 (ไม่ค่อยเกิด แต่มีประวัติเกิดขึ้นในรอบหลายสิบปี) Consequence: 4-5 (ผลกระทบรุนแรง หากเกิดในเมืองหรือใกล้โครงสร้างสำคัญ) ดังนั้น ความเสี่ยงนี้อยู่ที่ (2,4) หรือ (2,5) ซึ่งจัดอยู่ในระดับ Medium หรือ High risk

การแปลความหมาย Risk Level

Low 🟢 หมายถึง ยอมรับได้/เฝ้าระวัง ซึ่งไม่ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมมากนัก

Medium 🟡 หมายถึง ควรพิจารณามาตรการลดความเสี่ยง ซึ่งควรจะต้องมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า

High 🟠 หมายถึง มีความเสี่ยงที่ควรจัดการโดยเร็ว ซึ่งต้องมีแผนรองรับ / จัดเตรียมทรัพยากรสำหรับกรณีเกิดเหตุ

Extreme 🔴 หมายถึง ไม่ยอมรับได้ / ต้องจัดการทันที ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงหรือควบคุมความเสี่ยงให้ได้

การประเมินความเสี่ยง (Risk Evaluation)

การประเมินความเสี่ยง (Risk Evaluation) เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐาน ISO 31000 ที่ต่อเนื่องจากการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis) โดยมีเป้าหมายเพื่อเปรียบเทียบระดับของความเสี่ยงที่ได้วิเคราะห์ไว้ กับเกณฑ์ที่องค์กรยอมรับได้ (Risk Criteria) และตัดสินใจว่า ความเสี่ยงใด “ยอมรับได้” (Acceptable) หรือ “ต้องจัดการทันที” (Unacceptable) เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง

เมื่อองค์กรวิเคราะห์แล้วว่าแผ่นดินไหวสามารถส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร หรือหยุดชะงักการผลิตได้ ต่อไปต้องประเมินว่า ความเสี่ยงนี้ สูงเกินกว่าที่จะยอมรับได้หรือไม่

ตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยง:

หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 แล้วระบบของเราหยุดทำงาน 3 วัน ผลกระทบทางการเงินจะเกินระดับที่องค์กรรับได้หรือไม่?

อาคารที่ใช้อยู่มีความเสี่ยงต่อการพังถล่มในระดับไหน? มีแผนสำรองหรือไม่?

พนักงานรู้วิธีอพยพอย่างปลอดภัยหรือยัง?

ตัวอย่างผลลัพธ์ของการประเมินความเสี่ยง

Risk evaluation

การจัดการและบรรเทาความเสี่ยง (Risk Treatment)

กระบวนการเลือกและดำเนินการแนวทางที่เหมาะสมเพื่อลดระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (Acceptable level) หรือเพื่อจัดการผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงนั้น โดยอิงจากผลของการประเมินความเสี่ยง ISO 31000 ระบุว่าองค์กรสามารถจัดการความเสี่ยงด้วยแนวทางต่อไปนี้

หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่นำไปสู่ความเสี่ยง เช่น ไม่สร้างโรงงานในเขตที่มีรอยเลื่อนแผ่นดินไหว หรือ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงตามที่ระบุในการวิเคราะห์ความเสี่ยง

เสริมความแข็งแรงของอาคารให้ต้านแผ่นดินไหว

ติดตั้งระบบเตือนภัย

ฝึกซ้อมอพยพฉุกเฉิน

ซื้อประกันภัยแผ่นดินไหว

ใช้ผู้รับเหมาหรือพาร์ทเนอร์รับผิดชอบบางความเสี่ยงในซัพพลายเชน

ในกรณีที่ความเสี่ยงต่ำ และต้นทุนในการลดความเสี่ยงสูงเกินไป องค์กรอาจเลือก "ยอมรับ" และวางแผนรับมือเท่าที่จำเป็น เช่น มีแผนสำรองทำงานจากที่บ้านหากอาคารเสียหาย

ตัวอย่างการจัดการความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย

ความเสี่ยงที่พบ:

อาคารสำนักงานตั้งอยู่ใกล้แนวรอยเลื่อน

แนวทางการจัดการความเสี่ยง:

ตรวจสอบโครงสร้าง และปรับปรุงให้ได้มาตรฐานต้านแผ่นดินไหว

ความเสี่ยงที่พบ:

ไม่มีแผนรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน

แนวทางการจัดการความเสี่ยง:

จัดทำแผน BCP และซ้อมอพยพเป็นประจำ

ความเสี่ยงที่พบ:

พนักงานไม่รู้ขั้นตอนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

แนวทางการจัดการความเสี่ยง:

จัดอบรม และเสริมสร้างความตระหนักรู้ผ่านการอบรม แผ่นป้ายหรือคู่มือ

ความเสี่ยงที่พบ:

ความเสียหายต่ออุปกรณ์/ระบบ IT

แนวทางการจัดการความเสี่ยง:

จัดทำแผนสำรองข้อมูล และระบบทำงานแบบ Remote

บทสรุป

การวิเคราะห์ความเสี่ยงแผ่นดินไหวในประเทศไทยตามมาตรฐาน ISO 31000 ควรพิจารณาหลายมิติ ทั้งทางวิศวกรรม ธรณีวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม โดยใช้ทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณร่วมกัน เพื่อเข้าใจระดับความเสี่ยงและเตรียมแนวทางการจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

แชร์

Let us help you ensure business continuity

Talk to InterRisk and take the first step toward a safer, risk-free business