(สรุป)
การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝน (เดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม) ปี 2024
กรมอุตุนิยมวิทยา (TMD: Thai Meteorological Department)
ประกาศคาดการณ์สถานการณ์ในช่วง 3 เดือนในปลายเดือนกรกฏาคม ซึ่งปริมาณน้ำฝนในช่วง 3 เดือนจากเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคมนั้นจะมากกว่าค่าปกติของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วประเทศ 5% ปริมาณน้ำฝนโดยประมาณตามภูมิภาคมีดังนี้:
ภาคเหนือ 550-650 มม. (ค่าปกติ 577 มม.)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 600-700 มม. (ค่าปกติ 636 มม.)
ภาคกลาง 550-650 มม. (ค่าปกติ 571 มม.)
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 800-900 มม. (ค่าปกติ 782 มม.)
ภาคตะวันออก 850-950 มม. (ค่าปกติ 856 มม.)
ภาคใต้(ฝั่งอ่าวไทย) 500-600 มม. (ค่าปกติ 531 มม.)
ภาคใต้(ฝั่งอันดามัน) 1,200-1,300 มม. (ค่าปกติ 1,217 มม.)
ภาพด้านล่างเป็นภาพแผนที่ประเทศไทยที่มีการแสดงปริมาณน้ำฝนในแต่ละเดือน ในเดือนสิงหาคมพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับค่าปกติ และมีการคาดการณ์ว่าในเดือนตุลาคมจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับค่าปกติในทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีข้อน่ากังวลใจที่ปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้นในเดือนกันยายนเนื่องจากการเข้าใกล้ของพายุหมุนเขตร้อน
การเปลี่ยนผ่านของปรากฏการณ์เอลนีโญไปยังปรากฏการณ์ลานีญา
เอลนีโญ/ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเส้นศูนย์สูตรตอนกลางและตะวันออกสูงหรือต่ำกว่าปกติเป็นเวลาหลายเดือนถึงหนึ่งปี ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาถือเป็นสาเหตุของสภาพอากาศที่ผิดปกติทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยและญี่ปุ่น
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย ในระยะที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มที่จะแห้งแล้ง โดยมีอุณหภูมิสูงและมีฝนตกน้อย ในขณะที่ช่วงเกิดปรากฏการณ์ลานีญามีแนวโน้มที่จะมีอุณหภูมิต่ำและมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น จากผลการวิจัยที่ตีพิมพ์โดย TMD การวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิรายเดือนเป็นเวลา 50 ปี ตั้งแต่ปี 1951 ถึงปี 2000 พบว่าในปีที่ลานีญาเกิดขึ้น ปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยมีปริมาณสูงกว่าปกติโดยเฉพาะตั้งแต่ฤดูร้อนถึงฤดูฝน มีรายงานว่าในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝนมีฝนตกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงอื่นๆ และมีแนวโน้มว่าจะมีอิทธิพลน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝน นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ลานีญายังส่งผลต่ออุณหภูมิมากกว่าปริมาณน้ำฝน และปรากฏการณ์ลานีญาที่รุนแรงมีแนวโน้มที่จะทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีปกติ
รูปด้านล่างแสดงแนวโน้มของ ONI (Ocean Niño Index) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการเกิดเอลนีโญ/ลานีญาในอดีตตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป (รูปด้านล่าง) จัดพิมพ์โดย National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) คาบ ONI ต่อเนื่องที่สูงกว่า 0.5 บ่งชี้ถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ และคาบต่อเนื่องที่ -0.5 หรือต่ำกว่าหมายถึงการเกิดลานีญา
ล่าสุด ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 2023 ถึงต้นปี 2024 แต่ ONI มีแนวโน้มลดลง และ ONI จะเข้าสู่สถานะเป็นกลางในช่วงกลางปี 2024 NOAA คาดการณ์ว่าสภาพภูมิอากาศซึ่งขณะนี้อยู่ในสถานะเป็นกลาง จะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ลานีญาอย่างเต็มรูปแบบ และมีความเป็นไปได้สูงที่ลานีญาจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี กรมอุตุนิยมวิทยาในประเทศไทย (TMD) ญี่ปุ่น (สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น) ออสเตรเลีย (BOM) และประเทศอื่นๆ ได้ประกาศการคาดการณ์ที่คล้ายกันเช่นกัน ตามการคาดการณ์ล่าสุดของ NOAA มีโอกาสมากกว่า 80% ที่ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยจะเป็นกลางระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน แต่มีความเป็นไปได้เกือบ 50% หรือสูงกว่าที่ปรากฏการณ์ลานีญาจะเกิดขึ้นในอีกหกเดือนข้างหน้า
การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในช่วงครึ่งหลังปี 2024 และการป้องกัน
TMD คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์ลานีญาได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน และจะดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปีและเข้าสู่ปีใหม่ เนื่องจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญา คาดว่าปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และอุณหภูมิในฤดูหนาว (ประมาณเดือนธันวาคม) คาดว่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติของประเทศไทย (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำการปรับปรุงการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝน สภาพภูมิอากาศ และพายุหมุนเขตร้อน เพื่อป้องกันความเสียหายขนาดใหญ่ เช่น น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2011 ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง ซึ่งมาตรการรับมือหน้าฝนทั้ง 10 ประการนี้ได้มีการเริ่มลงมือปฏิบัติแล้ว (ดูบทความก่อนหน้าที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคมของปีนี้)
ขณะที่ร่องมรสุมเข้าใกล้ในเดือนสิงหาคมและกันยายน คาดว่าปริมาณฝนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะสูงกว่าปกติประมาณ 20% โดยเฉพาะในพื้นที่ใต้เขื่อนนั้นมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อัตราการไหลของน้ำและระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประวัติศาสตร์ สวนอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณปลายน้ำเจ้าพระยา สทนช. กำลังเร่งติดตามและจัดการสถานการณ์
มีการกำหนดจุดตรวจติดตามการไหลของแม่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 จุด ได้แก่ จุดสังเกต Y.4 ที่สุโขทัย จุดสังเกต C.2 ที่นครสวรรค์ จุดสังเกต C.13 ที่เขื่อนเจ้าพระยา และจุดสังเกต C29A ที่อยุธยา
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IAET) ได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและแผนการรับมือน้ำท่วมสำหรับอุตสาหกรรม โดยทำการวางแผนมาตรการการรับมือป้องกันจากด้านต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน, การปรับปรุงระบบระบายน้ำ, การกำหนดตำแหน่งพื้นที่รับน้ำชั่วคราว และการฝึกอบรมมาตรการการรับมือน้ำท่วมในกรณีฉุกเฉิน เพื่อลดความเสียหายของนิคมอุตสาหกรรมและสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ติดตามและจัดการสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีการแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ นิคมอุตสาหกรรม 15 แห่งที่บริหารจัดการโดย กนอ. และนิคมอุตสาหกรรม 53 แห่งที่บริหารจัดการร่วมกับภาคเอกชน ซึ่ง กนอ. ได้เสริมสร้างการตอบสนองการป้องกันภัยพิบัติให้กับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่จัดการโดย กนอ. เป็นหลัก
อีกทั้ง กนอ.ยังให้ความสำคัญกับการปรับปรุงมาตรการรับมือน้ำท่วมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น การติดตั้งระบบระบายน้ำ เพิ่มเติมในสวนนิคมอุตสาหกรรมบางปูในปี 2023 ซึ่งเป็นระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะและการควบคุมการติดตามที่สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์สภาวะต่าง ๆ (SCADA: Supervisory Control and Data Acquisition) สามารถทำการวัดและวิเคราะห์ระดับน้ำได้แบบเรียลไทม์, การจัดการเพื่อส่งน้ำไปยังคลองที่ทอดไปสู่ทะเลเป็นหลักเพื่อลดการระบายน้ำไปยังแหล่งชุมชน และการจัดการเพื่อชดเชยจุดอ่อนของคันดิน มีการกำหนดให้ทำการติดตั้งระบบ SCADA นี้ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ นิคมอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงที่ชัดเจนจึงเป็นเป้าหมายแรกในการติดตั้ง
ปริมาณการกักเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตติ์นั้นมีแนวโน้มลดลงในช่วงต้นปี แต่ทว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนสิงหาคม ปริมาณการกักเก็บเขื่อนภูมิพลนั้นมีปริมาณต่ำกว่า Low Rule Curve (ค่าพื้นฐานปริมาณน้ำสูงสุด หากค่านี้ต่ำกว่าที่มีการกำหนดจะเข้าสู่การจำกัดการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน) เนื่องจากรัฐบาลต้องการควบคุมการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเพื่อรักษาปริมาณน้ำในเขื่อนในช่วงฝนตกหนัก ในด้านเขื่อนสิริกิตติ์นั้นยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่ามีปริมาณที่ต่ำกว่าในปี 2011 แต่ยังคงสูงกว่าระดับน้ำในปี 2022
ปริมาณการกักเก็บน้ำในเขื่อนแควน้อยและป่าสักนั้นเพิ่มขึ้นตั้งเดือนปลายเดือนกรกฏาคม มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2022 และ 2021 แต่ทว่าปริมาณการกักเก็บน้ำในเขื่อนป่าสักนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับระดับน้ำในปี 2011 เขื่อนทั้งสองแห่งนั้นเมื่อเปรียบเทียบจากข้อมูลในอดีตแล้วมีแนวโน้มที่ปริมาณการกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม และอัตราการกักเก็บน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงช่วงท้ายของฤดูฝน
สถานการณ์กระแสน้ำบริเวณตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ด้านเหนือของเขื่อนเจ้าพระยา)
ส่วนหนึ่งของแม่น้ำปิง, แม่น้ำวัง, แม่น้ำยม และแม่น้ำน่านเพิ่มขึ้นไปจนถึงระดับ Critical และมีปริมาณไหลของน้ำที่สูง แต่ทว่าในบริเวณอื่นไม่มีสถานการณ์ใดที่สามารถนำไปสู่น้ำท่วมได้ในช่วงนี้
(หมายเหตุ)
– ตัวเลขสีดำในแม่น้ำ: อัตราการไหลของแม่น้ำ (ลูกบาศก์เมตร/วินาที) ตัวเลขในวงเล็บ: อัตราการไหลของน้ำ(ลูกบาศก์เมตร/วัน)
– ตัวเลขที่ขีดเส้นใต้และมี (+) หรือต่ำกว่า (-): ความห่างของระดับน้ำจากเขื่อนกั้นน้ำ (หากเลขเป็น 0 จะเกิดน้ำท่วม)
– ระดับน้ำ U/S และ D/S มีหน่วยเป็นเมตร
สถานการณ์กระแสน้ำบริเวณตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ด้านใต้ของเขื่อนเจ้าพระยา)
บริเวณตอนล่างของลุ่มแม่น้ำเจ้ายานั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด จึงไม่มีสถานการณ์ใดที่สามารถนำไปสู่น้ำท่วมได้ในช่วงนี้
(หมายเหต)
– ตัวเลขสีดำในแม่น้ำ: อัตราการไหลของแม่น้ำ (ลูกบาศก์เมตร/วินาที) ตัวเลขในวงเล็บ: อัตราการไหลของน้ำ(ลูกบาศก์เมตร/วัน)
– ตัวเลขที่ขีดเส้นใต้และมี (+) หรือต่ำกว่า (-): ความห่างของระดับน้ำจากเขื่อนกั้นน้ำ (หากเลขเป็น 0 จะเกิดน้ำท่วม)
– ระดับน้ำ U/S และ D/S มีหน่วยเป็นเมตร
สถานการณ์ของอ่างเก็บน้ำหลักในภาคตะวันออก (จังหวัดชลบุรี)
อ่างเก็บน้ำหลักในจังหวัดชลบุรีนั้นมีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เข้าฤดูฝน ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำบางพระนั้นสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2015 และ 2023 แต่ทว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองค้อนั้นอยู่ในปริมาณที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งนั้นมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม จึงคาดว่าจะมีอัตราการกักเก็บน้ำที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงช่วงท้ายของฤดูฝน
สถานการณ์ของอ่างเก็บน้ำหลักในภาคตะวันออก (จังหวัดระยอง)
อ่างเก็บน้ำหลักในจังหวัดระยองนั้นมีปริมาณน้ำที่มีแนวโน้มลดลงถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งจัดได้ว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2021 แต่ทว่ามีปริมาณการกักเก็บน้ำที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เข้าฤดูฝน อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลนั้นมีปริมาณกักเก็บน้ำที่สูงขึ้นเกือบเทียบเท่าปริมาณน้ำในปี 2023 ส่วนอ่างเก็บน้ำดอกกรายนั้นเริ่มมีปริมาณน้ำที่สูงขึ้นกว่าปี 2021 และ 2023 ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งนั้นมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
สถานการณ์การเกิดน้ำท่วม (ช่วงครึ่งหลังเดือนกรกฏาคมไปจนถึงครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม)
ณ ปัจจุบันมีรายงานการเกิดเหตุน้ำท่วมมากกว่า 30 เคสในประเทศไทย ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนั้นส่วนหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออก (จังหวัดปราจีนบุรี, นครนายก, จันทบุรี, ตราด) นั้นเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งสื่อมีการหยิบยกรายงานความเสียหายจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมฉับพลัน (Flash Flood) ใน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นในคืนวันที่ 4 สิงหาคม เกิดความเสียหายจากน้ำท่วมในบริเวณแหล่งชุมชนและบริเวณพื้นที่เชิงพาณิชย์ (บริเวณรีสอร์ทหลังเขื่อน) จึงมีข่าวรายงานอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในตัวอำเภอเมืองจังหวังนครนายก สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันนั้นมีการคาดการณ์ในช่วงแรกว่ามาจากการปล่อยปริมาณน้ำที่มากเกินไปจากอ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชัย แต่ทว่าหลังจากนั้นจึงทราบได้ว่าสาเหตุมาจากประตูน้ำที่บริเวณอ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชัยนั้นชำรุด อีกทั้งเกิดฝนตกหนักในบริเวณทิศเหนือในจังหวัดนครนายก ทำให้น้ำในทางน้ำหลักไหลทะลักเข้าสู่แหล่งชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมหลายแห่งในเมืององครักษณ์ เพื่อบรรเทาสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นกองทัพเรือได้มีการติดตั้งเรือผลักดันน้ำจำนวน 30 ลำในเมืององครักษณ์เพื่อเร่งระบายน้ำไปยังอ่าวไทย ในทางกลับกันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลักเช่น จังหวัดปราจีนบุรีนั้น ณ วันที่ 20 สิงหาคมยังไม่มีรายงานข่าวในเรื่องน้ำท่วมแต่อย่างใด
ภาพด้านล่างนั้นเป็นแผนภาพที่แสดงบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในภาคตะวันออก ที่ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA : GEO-INFORMATICS AND SPACE TECHNOLOGY DEVELOPMENT AGENCY)ได้มีการเผยแพร่ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2024
_______________________________________________________________________